ฟันผุอย่าปล่อยไว้ !
ฟันผุ (Tooth decay/ Dental caries)
ฟันผุ คือ การที่แบคทีเรียในช่องปากย่อยสลายอาหารประเภทน้ำตาล แล้วปล่อยกรดออกมา ซึ่งกรดเหล่านี้ถ้ามีมากเกินไปจะไปกัดกร่อนผิวฟันทีละนิด ๆ ถ้าฟันเปลี่ยนแปลงแร่ธาตุในน้ำลายกลับมาสู่สมดุลไม่ทัน ฟันก็จะโดนกร่อนไปเรื่อย ๆ จนเป็นโพรง ซึ่งเมื่อเป็นโพรงใหญ่ ๆ ดำ ๆ ก็จะดูไม่สวยงาม ทำให้เกิดกลิ่นปาก เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันได้ด้วย ซึ่งถ้าผุทะลุโพรงประสาทฟันจะไม่สามารถเก็บรักษาได้ด้วยการอุดฟัน ต้องเปลี่ยนเป็นการรักษารากฟัน ซึ่งมีความซับซ้อนและราคาที่สูงขึ้น หรือหากผุทำลายเนื้อฟันมาก อาจจะไม่สามารถบูรณะได้ ต้องถอนฟันแล้วใส่ฟันปลอมเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างวัสดุอุดสีเหมือนฟันและสีโลหะ
วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (Composite)
เป็นวัสดุอุดที่มีสีเลียนแบบสีฟันตามธรรมชาติ โดยมีหลายเฉดสี ทันตแพทย์จะเลือกตามสีเนื้อฟันของคนไข้ สามารถใช้อุดได้ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง
ข้อดี
1. สวยงาม เวลายิ้ม อ้าปาก จะไม่รู้สึกขัดตา ไม่เห็นเป็นเงาดำ ๆ
2. ไม่มีสารปรอท
3. สามารถใช้งานได้ทันทีหลังอุด ไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมงเหมือนวัสดุสีโลหะ
4. เสียเนื้อฟันน้อย ไม่ต้องกรอเนื้อฟันดี ๆ เพิ่มเติมเหมือนวัสดุสีโลหะ
ข้อเสีย
1. ราคาสูงกว่าวัสดุสีโลหะ (ซึ่งปัจจุบันราคาไม่ต่างกันมากนัก)
2. หากเหงือกอักเสบมีเลือดออกมารบกวนเวลาอุด อาจจะทำให้วัสดุรั่วตามขอบ ทำให้วัสดุไม่สมบูรณ์ได้
3. หากดื่มชา กาแฟ หรือ ใช้งานไปนาน ๆ (หลายปี) อาจจะเกิดการติดสีตามขอบวัสดุ ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น และอาจจะรั่วตามขอบ ซึ่งต้องมาซ่อมแซม
วัสดุสีโลหะ (Amalgam)
เป็นวัสดุโลหะผสมระหว่าง ปรอทผสมกับ เงินและทองแดง เด่นที่ความแข็งแรงเพราะเป็นส่วนผสมของโลหะ มักใช้อุดฟันหลังที่ต้องรับแรงแต่ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม ซึ่งเมื่ออ้าปากดู จะเห็นวัสดุอมัลกัม เป็นสีเทามัน แบบโลหะ และเมื่อใช้ไปงานนาน ๆ สีอาจเปลี่ยนคล้ำขึ้น และเนื่องจากตัววัสดุไม่สามารถยึดติดกับฟันได้ด้วยตัวเอง ทำให้ทันตแพทย์ต้องกรอแต่งฟันเป็นลักษณะเฉพาะเพื่อให้เกิดการยึดอยู่ซึ่งจะสูญเสียเนื้อฟันค่อนข้างมาก
ข้อดี
1. แข็งแรง ทนทาน นิยมอุดในฟันหลัง
2. ราคาถูกกว่าวัสดุอุดสีเหมือนฟัน (ซึ่งปัจจุบันราคาต่างกันไม่มาก)
3. สามารถอุดในจุดที่มีความชื้นได้ เช่น เหงือกที่มีเลือดออก หรือบริเวณใกล้ลิ้นควบคุมน้ำลายยาก
4. ใช้เวลาในการทำงานน้อยกว่า
ข้อเสีย
1. วัสดุนี้มีส่วนผสมของปรอทและโลหะอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นพิษต่อร่างกาย แต่ก็มีในปริมาณน้อยมาก ๆ ซึ่งจะระเหยออกมาระหว่างรื้อวัสดุเท่านั้น
2. หลังอุดต้องรอ 24 ชั่วโมงจึงจะเริ่มใช้ฟันซี่นั้นบดเคี้ยวอาหาร เพราะต้องรอให้วัสดุอุดแข็งตัวแบบสนิทก่อน
3. ต้องมีการกรอเนื้อฟันจริง ๆ ของเราออกมากกว่าเมื่อเทียบกับการอุดด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟัน
4. ไม่นิยมใช้อุดในฟันหน้า เพราะจะเห็นสีของโลหะชัดเจน
ข้อควรปฏิบัติหลังการอุดฟัน
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการอุดฟันโดยวัสดุที่เรียกว่า amalgam ไม่ควรใช้ฟันซี่นี้เคี้ยวอาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุยังแข็งแรงไม่เต็มที่ และควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารแข็ง ๆ จากนั้นควรกลับมาให้ทันตแพทย์ขัดแต่งวัสดุให้อีกครั้ง
ในกรณีที่อุดฟันหน้าไม่ควรใช้ฟันหน้ากัดอาหารที่แข็งหรือเหนียว เพราะจะทำให้วัสดุที่อุดแตกได้ และการแตกของวัสดุอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดีได้
ในซี่ฟันที่ผุลึก อาจจะมีการเสียวฟันภายหลังการอุดฟัน จึงควรงดอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัด ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเสียวฟันจะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ ในกรณีที่หลังจากที่อุดฟันแล้ว 1 เดือนแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเสียวฟันอยู่ ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขต่อไป
ฟันที่ได้รับการอุดไปแล้วยังสามารถผุซ้ำตามขอบ หรือบริเวณอื่นที่ยังไม่เคยได้รับการอุดได้ ดังนั้นควรแปรงฟันให้ถูกต้อง และตรวจเช็คสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ
ปรึกษาทำฟันฟรี จองคิวล่วงหน้า Line@siamnon